งานดัดแปลง ของ แคลนนาด (วิชวลโนเวล)

หนังสือ

วันที่ 15 เมษายน 2547 สำนักพิมพ์ซอฟต์แบงก์ครีเอทีฟ (SoftBank Creative) ได้ตีพิมพ์หนังสือขนาดเท่านิตยสารสามสิบเก้าหน้าชื่อ พรี-แคลนนาด (pre-Clannad) เผยแพร่ ประกอบด้วยภาพจากเกม คำอธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับตัวละคร ภาพร่างในการผลิตเกม และภาพวาดเค้าโครงความคิด[3]

ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2547 สำนักพิมพ์เอ็นเทอร์เบรน (Enterbrain) ตีพิมพ์หนังสือภาพสำหรับผู้นิยม แคลนนาด เผยแพร่ ประกอบด้วยคำอธิบายเรื่องราวโดยพิสดาร ภาพจากคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ โน้ตเพลงเปิดและปิดเกม บทสัมภาษณ์คณะผู้สร้างสรรค์ แล้วปิดเล่มด้วยภาพวาดตัวละครฉบับต้นอันเป็นผลงานของจิตรกรหลายคน บทเสริมเกมจำนวนสามบทเรียก ออฟฟิเชียลอนาเธอร์สตอรี (Official Another Story) และภาพร่างในการผลิตเกม รวมทั้งสิ้นหนึ่งร้อยหกสิบหน้า[2]

ระหว่างเดือนกันยายน 2547 ถึงเดือนตุลาคม 2548 สำนักพิมพ์แอสกีมีเดียเวิกส์ (ASCII Media Works) ได้ลงเรื่องสั้นเสริมเรื่องหลักของเกมพร้อมภาพประกอบจำนวนสิบสี่เรื่องเป็นตอน ๆ ในนิตยสาร เด็งเงะกิจีส์แมกาซีน เรียกรวมกันว่า ออฟฟิเชียลอนาเธอร์สตอรีแคลนนาด: ฮิกะริมิมะโมะรุซะกะมิชิเดะ (Official Another Story Clannad 光見守る坂道で; "แคลนนาดอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นทางการ: บนหนทางเลียบเนินเขาซึ่งมีแสงสว่างสาดส่องเหนือเรา") ในบรรดาเรื่องสั้นทั้งสิบสี่นี้ สิบสามเรื่องเป็นบทปรกติ และอีกหนึ่งเป็นบทแถม ทุกเรื่องมีกลุ่มเจ้าหน้าที่เขียนบทของบริษัทคีย์เป็นผู้เขียน และจิตรกรซึ่งใช้นามแฝงว่า โกท็อป (GotoP) เป็นผู้วาดภาพประกอบ ต่อมาได้พิมพ์รวมเล่มพร้อมแต่งเรื่องเพิ่มอีกสองเรื่องใส่เข้าไปด้วย เป็นหนังสือหนึ่งร้อยสามหน้า และจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548[28][29][30] นอกจากนี้ บริษัทโพรโตไทป์ยังจำหน่ายซ้ำผ่านทางบริษัทวิชวลอาตส์มอตโตซึ่งหนังสือดังกล่าวฉบับอ่านทางโทรศัพท์มือถือระบบซอฟต์แบงก์ 3จี และโฟมา โดยเริ่มจำหน่ายสัปดาห์ละบทตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 แต่ระบบโฟมาจะได้อ่านก่อนซอฟต์แบงก์ 3จีเป็นเวลาสามสัปดาห์ ต่อมา บริษัทโพรโตไทป์ได้จำหน่ายหนังสือนี้ฉบับอ่านด้วยเครื่องเพลย์สเตชันแบบพกพา โดยทำเป็นสองเล่มใหญ่ แต่ละเล่มมีเนื้อหาแปดบท และมีภาพประกอบของจิตรกรโกท็อป เล่มแรกเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2553 เล่มหลังตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ปีเดียวกัน[31][32][33] บริษัทโพรโตไทป์เรียกฉบับที่อ่านบนเครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้ว่า นิยายเสียงซึ่งอาศัยการมอง (visual sound novel)[34] อนึ่ง นิยายทั้งนี้ยังได้รับการผลิตเป็นฉบับอ่านบนอุปกรณ์แอนดรอยด์ โดยเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554[35][36]

นักเขียนหลายคนยังช่วยกันแต่งประชุมนิยายประจำตัวละครของเกมนี้ และสำนักพิมพ์จีฟ (Jive) รวมเป็นสองเล่มแล้วพิมพ์เผยแพร่ เล่มแรกจำหน่ายในเดือนกันยายน 2547 เล่มหลังในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน[37][38]

สำนักพิมพ์ฮาร์เวสต์ (Harvest) พิมพ์ประชุมชุดเรื่องสั้นเกี่ยวกับเกมนี้เผยแพร่จำนวนสามเล่ม ตั้งนามว่า แคลนนาด. (くらなど。) เล่มแรกรวมเอาเรื่องสั้นซึ่งฮิโระ อะกิซุกิ (Hiro Akizuki) กับมุสึกิ มิซะกิ (Mutsuki Misaki) สองคนเขียนด้วยกัน และจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายน 2552 ส่วนเล่มสามนั้นจำหน่ายในเดือนตุลาคม 2553[39][40] อนึ่ง ยังพิมพ์ประชุมชุดเรื่องสั้นทำนองเดียวกันอีกชุดเผยแพร่ มีจำนวนสามเล่ม เรียกรวมกันว่า แคลนนาดเอสเอสเอส (Clannad SSS) เล่มแรกเป็นชุดนิยายชื่อ แคลนนาดมิสเทอรีไฟล์ (Clannad Mystery File) จำหน่ายในเดือนสิงหาคม 2554 กับทั้งยังพิมพ์นิยายอีกเล่มหนึ่งเรียก แคลนนาด: เมจิกอาวร์ (Clannad: Magic Hour) จำหน่ายในเดือนธันวาคม ปีนั้นเอง[41]

มังงะ

มีมังงะสี่ชุดดัดแปลงมาจากเกมนี้ ชุดแรกนั้นเป็นผลงานของจุริ มิซะกิ (Juri Misaki) เรียก แคลนนาดออฟฟิเชียลคอมิก (Clannad Official Comic) ลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร คอมิกรัช ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2548 ถึงเดือนเมษายน ปีถัดมา[42][43] ต่อมา สำนักพิมพ์จีฟรวมมังงะเหล่านั้นเป็นมังงะจบในเล่มจำนวนแปดชุด ชุดละหลายเล่ม เผยแพร่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 ถึงเดือนมีนาคม 2552[44][45]

มังงะชุดที่สองเป็นผลงานของริโนะ ฟุจี (Rino Fujii) ดัดแปลงจากหนังสือเรื่อง ออฟฟิเชียลอนาเธอร์สตอรีแคลนนาด: ฮิกะริมิมะโมะรุซะกะมิชิเดะ และใช้ชื่อเดียวกัน บริษัทเฟล็กซ์คอมิกซ์ (Flex Comix) นำลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร คอมิกดิจิ + ฉบับวันที่ 21 มิถุนายน 2550 ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2551 ฉบับละสิบเอ็ดบท[46][47] ต่อมา สำนักพิมพ์บร็อกโคลี (Broccoli) รวมเป็นมังงะจบในเล่มจำนวนสองชุด ชุดแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 มีทั้งแบบจำกัดและแบบปรกติ แบบจำกัดนั้นแถมสมุดจดหนึ่งเล่มสีดำมีตราโรงเรียนของโทะโมะยะอยู่บนปก[48] และเพื่อเฉลิมฉลองยอดขายมังงะชุดแรกดังกล่าว ได้จัดการประชุมโดยมีจิตรกรฟุจีมาร่วมแจกลายมือชื่อ ณ ร้านเกเมอส์ (Gamers) เมืองนะโงะยะ วันที่ 2 มีนาคม 2551 ด้วย[49] ส่วนชุดที่สองนั้นจำหน่ายเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2552 มีทั้งแบบจำกัดและแบบปรกติดุจกัน[50]

ชุดที่สามเป็นผลงานของชา (Shaa) สำนักพิมพ์แอสกีมีเดียเวิกส์นำลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร เด็งเงะกิจีส์แมกาซีน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 ถึงเดือนกรกฎาคม 2552[51] แล้วย้ายไปลงนิตยสาร เด็งเงะกิจีส์เฟสติวัล! คอมิก (Dengeki G's Festival! Comic) อันเป็นนิตยสารพี่น้องกัน ตั้งแต่ฉบับที่แปด ประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2552[52] ต่อมา สำนักพิมพ์เด็งเงะกิคอมิกส์ (Dengeki Comics) ในเครือแอสกีมีเดียเวิกส์ รวมเป็นมังงะจบในเล่มจำนวนสามชุด ชุดแรกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552[53] ชุดที่สามจำหน่ายเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2553[54]

ส่วนชุดที่สี่นั้นมีชื่อว่า แคลนนาด: โทะโมะโยะเดียเรสต์ (Clannad: Tomoyo Dearest) เป็นผลงานของยุกิโกะ ซุมิโยะชิ (Yukiko Sumiyoshi) ดัดแปลงมาจากเกม โทะโมะโยะอาฟเตอร์: อิตส์อะวันเดอร์ฟูลไลฟ์ และสำนักพิมพ์ฟุจิมิโชะโบ (Fujimi Shobō) นำลงพิมพ์ในนิตยสาร แดรก็อนเอจเพียวร์ ตั้งแต่ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 ถึงวันที่ 20 สิงหาคม ปีเดียวกัน[55][56][57] ต่อมาจึงรวมเป็นหนึ่งเล่มจบจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2551[58]

อนึ่ง ยังมีประชุมมังงะจำนวนสี่ชุด แต่ละชุดเป็นผลงานของจิตรกรราว ๆ ยี่สิบคน[59] ชุดแรกใช้ชื่อว่า แคลนนาด ประกอบด้วยมังงะทั้งหมดห้าเล่ม สำนักพิมพ์ทวินฮาร์ตคอมิกส์ (Twin Heart Comics) ในเครือสำนักพิมพ์โอโซะระ (Ohzora) พิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2547 ถึงเดือนกรกฎาคม ปีถัดมา[60][61] ชุดที่สองมีเล่มเดียวเรียก แคลนนาดคอมิกแอนทอโลจี: อนาเธอร์ซิมโฟนี (Clannad Comic Anthology: Another Symphony) สำนักพิมพ์จีฟพิมพ์จำหน่ายเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2548[62] ชุดที่สามประกอบด้วยมังงะสองเล่ม และเล่มพิเศษอีกหนึ่งเล่ม สำนักพิมพ์อิจินชะ (Ichijinsha) พิมพ์เล่มแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 เล่มสองวันที่ 24 เดือนถัดมา และเล่มพิเศษวันที่ 25 ธันวาคม 2550[63][64][65] ส่วนชุดที่สี่เป็นประชุมมังงะสี่ช่อง ประกอบด้วยมังงะทั้งหมดสี่เล่ม เรียกรวมกันว่า มะจิ-คยูยงโกะมะแคลนนาด (Magi-Cu 4-koma Clannad) สำนักพิมพ์เอ็มซีคอมิกส์ (MC Comics) ในเครือสำนักพิมพ์เอ็นเทอร์เบรน พิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2552[59]

บน: ซีดีละครจากมังงะ เวิร์กกิ้ง!! (Working!!) ซ้าย กับ แคลนนาด ขวา
ล่าง: ดีวีดีอนิเมะโรงแบบกล่องชุดฉบับพิเศษ

ซีดีละคร

เกมนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นละครเสียงและทำเป็นซีดีจำหน่ายจำนวนสองชุด ซีดีละครชุดแรกเป็นผลงานการผลิตของบริษัมฟรอนเทียร์เวิกส์ ประกอบด้วยซีดีทั้งหมดห้าแผ่นว่าด้วยตัวนางทั้งห้าเป็นรายแผ่นไป แผ่นแรกทำเป็นฉบับจำกัดและแถมละครพิเศษหนึ่งตอน จำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2550 ส่วนแผ่นที่สองถึงห้านั้นจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2550 เดือนละแผ่น[66]

ส่วนซีดีละครชุดที่สองนั้น บริษัทโพรโตไทป์ผลิต ประกอบด้วยซีดีทั้งหมดสี่แผ่น แผ่นแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 แผ่นที่สองจำหน่ายในเดือนสิงหาคม 2550 แผ่นที่สามจำหน่ายในเดือนถัดมา และแผ่นสุดท้ายจำหน่ายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550[67] แต่ละแผ่นเป็นละครซึ่งอิงหนังสือ ออฟฟิเชียลอนาเธอร์สตอรีแคลนนาด: ฮิกะริมิมะโมะรุซะกะมิชิเดะ และจิตรกรโกท็อปซึ่งวาดภาพประกอบหนังสือนั้นได้วาดภาพปกซีดีด้วย[67]

ละครเสียงทั้งนี้เปิดให้ดาวน์โลดพร้อมบทและภาพผ่านระบบเอกซ์บอกซ์ไลฟ์ (Xbox Live) กับร้านเพลย์สเตชัน เมื่อเล่นเกม แคลนนาด ด้วยเครื่องเอกซ์บอกซ์ 360 หรือเพลย์สเตชัน 3 แล้วแต่กรณี ด้วย[23][24]

อนิเมะโรง

ดูบทความหลักที่ แคลนนาด (ภาพยนตร์)

บริษัทโทเอแอนิเมชันซึ่งเคยนำเกม แคนอน กับ แอร์ มาทำเป็นอนิเมะโรงแล้ว ได้ประกาศเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2543 ณ เทศกาลอนิเมะโตเกียว (Tokyo Anime Fair) ว่า จะนำเกม แคลนนาด มาทำเช่นกัน[68][69] โอะซะมุ เดะซะกิ (Osamu Dezaki) ซึ่งกำกับ แอร์ ได้กำกับ แคลนนาด ด้วย ส่วนมะโกะโตะ นะกะมุระ (Makoto Nakamura) เขียนบท มีเนื้อหาค่อนไปทางตัวละครนะงิซะ เป็นเหตุให้ตัวละครอื่น ๆ ถูกตัดทิ้งหรือลดทอนบทบาทลงเสียมาก อนิเมะนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2550 และทำเป็นดีวีดีสามฉบับ คือ ฉบับสะสม ฉบับพิเศษ และฉบับปรกติ จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม ปีถัดมา[70] บริษัทเซ็นไตฟิล์มเวิกส์ (Sentai Filmworks) ได้รับอนุญาตให้นำอนิเมะนี้เผยแพร่ในทวีปอเมริกาเหนือ โดยจัดพากย์และบรรยายภาษาอังกฤษ แล้วจำหน่ายตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554[71]

อนิเมะชุด

การผลิตและเนื้อหา

บริษัทเกียวโตแอนิเมชันซึ่งเคยนำเกม แคนอน และ แอร์ มาดัดแปลงเป็นอนิเมะฉายทางโทรทัศน์แล้ว ได้นำเกม แคลนนาด มาทำดุจกัน ฝ่ายทะสึยะ อิชิฮะระ (Tatsuya Ishihara) ซึ่งกำกับอนิเมะทั้งสอง รับหน้าที่กำกับอนิเมะนี้ด้วย[72]

อนิเมะชุดนี้ประกอบด้วยสองฤดูกาล ฤดูกาลแรกเรียก แคลนนาด มีเนื้อหาตามองก์ชีวิตวัยเรียนของเกม มียี่สิบสี่ตอน เป็นตอนปรกติยี่สิบสามตอน อีกหนึ่งเป็นตอนพิเศษเรียก อนาเธอร์เวิลด์: โทะโมะโยะแชปเตอร์ (Another World: Tomoyo Chapter) มีเนื้อหาอีกรูปแบบหนึ่งแตกแขนงไปจากเนื้อเรื่องหลัก โดยว่าด้วยความรักระหว่างโทะโมะยะกับโทะโมะยะตามเกม โทะโมะโยะอาฟเตอร์: อิตส์อะวันเดอร์ฟูลไลฟ์ แต่ไม่มีฉากลามกอนาจาร ส่วนฤดูกาลที่สองเรียก แคลนนาดอาฟเตอร์สตอรี (Clannad After Story) อิงองก์เรื่องราวให้หลังของเกม มียี่สิบห้าตอน เป็นตอนปรกติยี่สิบสี่ตอน อีกหนึ่งเป็นตอนพิเศษเรียก อนาเธอร์เวิลด์: เคียวแชปเตอร์ (Another World: Kyou Chapter) มีเนื้อหาว่าด้วยความรักระหว่างโทะโมะยะกับเคียว ทำนองเดียวกับตอนพิเศษในฤดูกาลแรก[72]

เพลง "แม็กเมล" (メグメル; Mag Mell; "ดินแดนแห่งความสุข") ซึ่งวงยูโฟเนียส (Eufonius) ร้องเป็นเพลงเปิดเกมนั้น ได้รับการเรียบเรียงเสียงใหม่เรียกชื่อว่า "'แม็กเมล' –คุกคูลมิกซ์-" ('Mag Mell' -cockool mix-) และเรียบเรียงอีกทีเรียก "'แม็กเมล' ~คุกคูลมิกซ์ 2007~" ('Mag Mell' ~cockool mix 2007~) ฉบับหลังนี้ใช้เป็นเพลงเปิดอนิเมะฤดูกาลแรก ส่วนเพลง "นะงิซะ" (渚) ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงประจำฉากของตัวละครนะงิซะในเกมนั้น นำมาใส่เนื้อให้ชาตา (Chata) ร้องเป็นเพลงปิดอนิเมะฤดูกาลแรก เรียก "ดังโงะไดกะโซะกุ" (だんご大家族; "ครอบครัวใหญ่ของเหล่าดังโงะ") ขณะที่เพลง "โอะนะจิทะกะมิเอะ" (同じ高みへ; "ไปสู่ความสูงระดับเดียวกัน") อันเป็นเพลงบรรเลงประกอบเกมนั้น ได้รับการนำมาใส่เนื้อให้ลีอา (Lia) ร้องเป็นเพลงเปิดอนิเมะฤดูกาลที่สอง เรียกนามว่า "โทะกิโอะคิซะมุอุตะ" (時を刻む唄; "บทเพลงเพื่อยังให้เวลาล่วงไป") ส่วนเพลงปิดชื่อเพลง "ทอร์ช" (Torch; "แสง") แต่งขึ้นใหม่ และลีอาร้องเช่นกัน บรรดาบทเพลงอื่นที่ใช้ประกอบอนิเมะทั้งสองฤดูกาลนั้นเป็นเพลงประกอบเกมและเคยอยู่ในอัลบัมเพลงประกอบเกมซึ่งจำหน่ายไปก่อนหน้าแล้วทั้งสิ้น

บลูเรย์อนิเมะฤดูกาลที่หนึ่งแบบกล่องชุด กับกล่องย่อยภายใน สมุดรายการ และแผ่นบลูเรย์

การเผยแพร่

วันที่ 15 มีนาคม 2550 หลังจากสถานีโทรทัศน์บีเอสไอฉายตอนจบของอนิเมะ แคนอน แล้ว ก็ได้ฉายตัวอย่างอนิเมะ แคลนนาด ความยาวสามสิบวินาทีต่อท้ายเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ต่อมา บริษัทเกียวโตแอนิเมชันประกาศ ณ เทศกาลอนิเมะเฟียสตา (Anime Festa) อันสถานีโทรทัศน์ทีบีเอสจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2550 ว่า อนิเมะฤดูกาลแรกจะออกอากาศจำนวนยี่สิบสามตอนตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2550 จนถึงวันที่ 27 มีนาคม ปีถัดมา ส่วนตอนที่ยี่สิบสี่จะจำหน่ายในท้องตลาดแต่ประการเดียว[72] ครั้นออกอากาศแล้วสิ้นแล้ว เกียวโตแอนิเมชันได้เปิดให้ส่งไปรษณียบัตรชิงโชคเข้ามาชมตอนที่ยี่สิบสี่ โดยคัดเอาเพียงสี่ร้อยคนและจัดให้ชมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ต่อมา บริษัทโพนีแคนยอน (Pony Canyon) ได้ผลิตอนิเมะทั้งยี่สิบสี่ตอนเป็นดีวีดีจำนวนแปดแผ่น แต่ละแผ่นมีสามตอน แผ่นแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550 แผ่นที่สุดท้ายจำหน่ายเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2551[72] ลุวันที่ 30 เมษายน 2553 จึงทำเป็นบลูเรย์จำหน่าย[73]

ในวันที่ฉายตอนที่ยี่สิบสามของฤดูกาลแรกจบ ได้ฉายโฆษณาฤดูกาลที่สองความยาวสิบห้านาทีแนบท้าย ครั้นแล้ว ฤดูกาลที่สองจึงออกอากาศตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2551 ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2552[74][75] โดยจัดให้บุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งชนะการชิงโชคเข้าชมตอนที่ยี่สิบห้าเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 เช่นเคย[76] แล้วจึงทำเป็นดีวีดีแปดแผ่น แผ่นแรกวางแผงเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551 แผ่นสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 และทำเป็นบลูเรย์มีบทบรรยายภาษาอังกฤษจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2554[77]

ในทวีปอเมริกาเหนือ บริษัทเซ็นไตฟิล์มเวิกส์ได้รับอนุญาตให้นำอนิเมะฤดูกาลเผยแพร่ โดยให้บริษัทเอดีวีฟิมส์ (ADV Films) ผลิตจำหน่ายเป็นดีวีดีแบ่งขายใส่กล่องเป็นชุดรวมทั้งหมดสองชุด ชุดหนึ่งมีความยาวครึ่งฤดูกาล พากย์ภาษาญี่ปุ่น บรรยายภาษาอังกฤษ มิได้จัดพากย์ภาษาอังกฤษ[78] กล่องชุดแรกเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552[79] ชุดที่สองวันที่ 5 พฤษภาคม ปีนั้นเอง[80] ส่วนฤดูกาลที่สองนั้น เซ็นไตฟิล์มเวิกส์ได้รับอนุญาตเช่นกัน โดยให้บริษัทเซ็กชัน23 ฟิมส์ (Section23 Films) ผลิตเผยแพร่เป็นกล่องชุดดีวีดีสองชุดทำนองเดียวกัน ชุดแรกเผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ชุดที่สองวันที่ 8 ธันวาคม ปีเดียวกัน[81] ต่อมา เซ็นไตฟิลมส์เวิกส์ให้บริษัทเซราฟีมดิจิทัล (Seraphim Digital) จัดพากย์ภาษาอังกฤษ แล้วแถลงเปิดงานพากย์นี้ผ่านเครือข่ายอนิเมะ (Anime Network) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2553 ก่อนทำเป็นกล่องชุดดีวีดีหนึ่งกล่องจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2553[82][83][84] ครั้นแล้วจึงจัดพากย์ภาษาอังกฤษให้แก่ฤดูกาลที่สอง แล้วจำหน่ายเป็นกล่องชุดดีวีดีตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2554[85] ภายหลังจึงผลิตเป็นบลูเรย์จำหน่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554[86]

รายการวิทยุทางอินเทอร์เน็ต

เพื่อโฆษณาอนิเมะฤดูกาลแรก บริษัทเกียวโตแอนิเมชันได้จัดรายการวิทยุทางอินเทอร์เน็ตจำนวนห้าสิบสองตอน เรียก นะงิซะโทะซะนะเอะโนะโอะมะเอะนิเรนโบว์ (渚と早苗のおまえにレインボー; "สายรุ่งอันทอลำอยู่เบื้องหน้านะงิซะและซะนะเอะ") ออกอากาศทุกวันศุกร์ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2550 ถึงวันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม ปีถัดมา[87] รายการวิทยุนี้ อนเซ็ง (Onsen) กับแอนิเมตทีวี (Animate TV) ร่วมกันผลิต และไม นะกะฮะระ (Mai Nakahara) ซึ่งพากย์เป็นนะงิซะ กับคิกุโกะ อิโนะอุเอะ (Kikuko Inoue) ซึ่งพากย์เป็นซะนะเอะ สองคนร่วมกันเป็นพิธีกร[87] นอกจากนี้ นักพากย์คนอื่น ๆ ยังเป็นแขกร่วมรายการเป็นครั้งเป็นคราว เป็นต้นว่า ยุอิชิ นะกะมุระ (Yuichi Nakamura) ซึ่งพากย์เป็นโทะโมะยะ, เรียว ฮิโระฮะชิ (Ryō Hirohashi) ซึ่งพากย์เป็นเคียว, อะเกะมิ คันดะ (Akemi Kanda) ซึ่งพากย์เป็นเรียว, ไดซุเกะ ซะกะงุชิ (Daisuke Sakaguchi) ซึ่งพากย์เป็นโยเฮ และอะสึกุโกะ เอะโนะโมะโตะ ซึ่งพากย์เป็นยุกิเนะ มิยะซะวะ (Yukine Miyazawa)[87]

ส่วนอนิเมะฤดูกาลที่สองนั้น ก็ได้จัดรายการวิทยุทางอินเทอร์เน็ตโฆษณาเช่นเดียวกัน รายการนี้เรียก นะงิซะโทะซะนะเอะโทะอิกิโอะโนะโอะมะเอะนิไฮเปอร์เรนโบว์ (渚と早苗と秋生のおまえにハイパーレインボー; "สายรุ่งอันทอลำอยู่มากมายเบื้องหน้านะงิซะ กับซะนะเอะ และอะกิโอะ") ประกอบด้วยตอนทั้งสิ้นยี่สิบหกตอน ออกอากาศทุกวันศุกร์ ระหว่างวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม 2551 ถึงวันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2552[87] ผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการยังคงเดิม แต่ได้เรียวตะโร โอะกิอะยุ (Ryōtarō Okiayu) ซึ่งพากย์เป็นอะกิโอะ มาร่วมเป็นพิธีกรเพิ่ม[87]

สิบสามตอนแรกจากรายการวิทยุฤดูกาลที่หนึ่งได้รับการบรรจุลงซีดีสองแผ่นจำหน่ายพร้อมกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551[88] ต่อภายหลังจึงบรรจุอีกยี่สิบหกตอนถัดมาลงซีดีสองแผ่นจำหน่ายเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2551[89] สิบสามตอนที่เหลือนั้นเผยแพร่เป็นซีดีสองชุด ชุดแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551[90] ชุดหลังอันเป็นชุดสุดท้ายเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552[91] ขณะที่รายการวิทยุฤดูกาลที่สองนั้น บรรจุลงซีดีสองแผ่นจำหน่ายต่างเวลากัน แผ่นแรกขายตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552[92] แผ่นที่สองวันที่ 29 พฤษภาคม ปีเดียวกัน[93]

แหล่งที่มา

WikiPedia: แคลนนาด (วิชวลโนเวล) http://www.onsen.ag/blog/?p=2814 http://www.onsen.ag/blog/?p=2818 http://www.onsen.ag/blog/?p=3731 http://www.amazon.com/dp/B001VFM5XS/ http://www.animenewsnetwork.com http://www.animenewsnetwork.com/encyclopedia/anime... http://www.animenewsnetwork.com/news/2006-03-25/to... http://www.animenewsnetwork.com/news/2007-12-27/ja... http://www.animenewsnetwork.com/news/2008-01-27/ja... http://www.animenewsnetwork.com/news/2008-02-05/ne...